คลังจัดมหกรรมแก้หนี้สัญจร เริ่มครั้งแรก กทม. 4 พ.ย.นี้ ชี้โควิดทำให้ประชาชนขาดรายได้ รัฐจึงต้องการบรรเทาภาระ เผยหนี้เสียกลางปี’65 อยู่ที่ระดับ 8.53 แสนล้านบาท พร้อมเปิดรายละเอียดภายในงาน
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จะมีการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ณ Hall 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยงานมหกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน
“เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจขาดรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำลง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงแล้วและสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ปัญหาภาระหนี้ของประชาชนยังคงอยู่ ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน จึงได้ร่วมมือกันจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืนขึ้น”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการที่มีการกันสำรองส่วนหนึ่งจะทำให้ลูกหนีที่มีปัญหาได้รับการดูแล ซึ่งล่าสุด ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ช่วงกลางปี 2565 นั้น มีอยู่ทั้งหมด 853,996 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อทั้งหมด 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.47% โดยในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็น จำนวนหนี้ของธนาคารพาณิชย์เกือบ 3% และอีก 5% เป็นของสถาบันการเงินของรัฐ อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนเงิน NPL ของแบงก์พาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่แบงก์รัฐอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท
โดยในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
(1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เช่น
– การปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ โดยลดภาระค่างวดและแบ่งตัดเงินต้นสูงสุดร้อยละ 20 หรือหากเป็นลูกหนี้สถานะ NPL และสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้จะได้รับการลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
– มาตรการแก้หนี้สินเชื่อบ้าน สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL จะได้รับการลดเงินงวดผ่อนชำระ
พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลานาน 2 ปี โดยเดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 11-21 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.99-2.00 ต่อปี และเดือนที่ 22-24 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR-2.00 ต่อปี โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์
– มาตรการชำระดีมีคืนไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับลูกหนี้ปกติ และลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สำหรับลูกหนี้ NPLs และส่วนลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
– มาตรการเอ็กซิมสนับสนุนมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ยืดหนี้สูงสุด 12 เดือน ผ่อนดีมีคืนดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
(2) การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนได้ในระยะยาว และสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เช่น
– สินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย ให้กู้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำแบบคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยธนาคารออมสิน
– สินเชื่อเพื่อ SMEs ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 5.5 ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
– สินเชื่อ Krungthai SME Smart Shop วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR ต่อปี โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
– สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง เพื่อช่วยเหลือ Start Up ให้ส่งออก วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท
ใช้บุคคลค้ำประกัน และสินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
– สินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตรากำไรพิเศษร้อยละ 1.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือนแรก โดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
– โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงินระยะที่ 7 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 10 ปี ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
(3) การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการเป็นหนี้และมีการวางแผนทางการเงิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน เช่น
– การส่งเสริมการออมผ่านเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 10 ปี ดอกเบี้ยแบบ Step up สูงสุดร้อยละ 9 ต่อปี ในปีที่ 10 คิดเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3.45 ต่อปี โดยธนาคารออมสิน
– การให้คำปรึกษาทางออกให้ธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย การให้บริการคำปรึกษาทางการเงินผ่าน บสย. F.A. Center การให้คำปรึกษาผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย การให้ข้อเสนอแนะในการประกอบธุรกิจโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
– การให้ความรู้ทางการเงินโดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนการออมแห่งชาติ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์