JTS หมดจุดขายมีแววทรุดต่อ หวั่นต้นทุนสูงกดจนบักโกรก

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ส่องสถานการณ์ “จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS)” หุ้นตัวแม่เหมืองขุดบิตคอยน์ หลังสถานการณ์ไม่เป็นใจกดดันราคาเหรียญร่วงต่อเนื่อง แถมต้นทุนการขุดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยังเดินหน้าลุยไฟต่อเพื่อหวังการเติบโตระยะยาว ภาพรวมหลายฝ่ายเชื่อหมดจุดขายฝัน ราคาหุ้นมีโอกาสกลับไปจุดเริ่มต้น ส่วนแผนนำเงินขาย 3BB มาถือหุ้นเพิ่มก็ไม่ช่วยให้ราคากระเตื้องจากทิศทางขาลง

ขึ้นไวและลงไวเสียจริงสำหรับราคาหุ้นบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS จากที่เคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 586.00 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่มาวันนี้ราคาหุ้นร่วงลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 46.50 บาท/หุ้น ลดลง 539.50 บาท หรือ 1,160.21% ยิ่งช่วยสะท้อนว่าการหวังรวยด้วยเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีบางทีมันก็ไม่โสภาไปตลอด

แต่เดิม JTS ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหา ออกแบบ ติดตั้งและทดสอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (Total ICT Solution) มีบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถือใหญ่สุด 32.80% และนายพิชญ์ โพธารามิก ถือลำดับ 2 ถือ 9.59%

โดยในช่วงปี 2561 บริษัทมีสินทรัพย์ 1.26 พันล้านบาท หนี้สินรวม 296.75 ล้านบาท มีรายได้รวม 142.58 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 15.15 ล้านบาท ต่อมาปี 2562 มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.27 พันล้านบาท หนี้สินรวมเพิ่มเป็น 305.49 ล้านบาท แต่รายได้รวมลดลงเหลือ 116.45 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิเหลืออยู่ที่ 6.14 พันล้านบาท

ขณะที่ปี 2563 บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1.40 พันล้านบาท หนี้สินรวมเพิ่มเป็น 395.72 ล้านบาท แต่รายได้เพิ่มขึ้นแตะ 309.94 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มเป็น 44.17 ล้านบาท และปี 2564 สินทรัพย์รวมของ JTS เพิ่มเป็น 1.56 พันล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นถึง 892.85 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้ก้าวกระโดดเป็น 1.87 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิกระโดดขึ้นมาถึง 221.04 ล้านบาท

ส่วนในปี 2565 เพียงแค่งบครึ่งปี JTS มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.90 พันล้านบาท แต่มีตัวเลขหนี้สินรวมพุ่งแตะ 2.10 พันล้านบาท แม้รายได้ครึ่งปีแรกจะทำได้ถึง 1.02 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงถึง 130.93 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างให้น้ำหนักไปที่หนี้สินรวมของบริษัทที่มีโอกาสจะชนะตัวเลขสินทรัพย์รวมของบริษัทในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทชี้แจงถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 1.64 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้จากธุรกิจใหม่หรือโปรเจกต์สำคัญอย่างธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ 9.591882 เหรียญ หรือ 16.53 ล้านบาท

โดยในปี 2565 บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจะเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองบิตคอยน์เพิ่มขึ้น ด้วยการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ที่มีพลังประมวลผลสูง (Total Hash Rate) จำนวน 1,725 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 437.31 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 บริษัทมีเครื่องขุดบิตคอยน์ที่ติดตั้งเสร็จแล้ว 315 เครื่อง

ขณะเดียวกัน จำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่เหลือจะทยอยส่งมอบในปี 2565 ซึ่ง JTS มีแผนจะมีเครื่องขุดบิตคอยน์รวมอยู่ที่ 8,100 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 3.3 พันล้านบาท และได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ซึ่งจะทำให้ JTS มีศักยภาพในการขุดบิตคอยน์เป็น 1 ล้าน Terrahash/s และกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นทำให้ผู้บริหารมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

ราคาพุ่งรับข่าวตั้งเหมืองขุดเหรียญ

ที่ผ่านมา หากพิจารณาถึงธุรกิจหลักเดิมของ JTS หลายฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกัน ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นของบริษัทเติบโตได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น แรงผลักดันให้ราคาหุ้น JTS ติดปีกทะยานสูงจึงมาจากแผนแตกไลน์ธุรกิจหันมาลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ในช่วงปลายปี 2564 นั่นเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าวต้องยอมรับว่าราคาเหรียญคริปโตฯ เกือบทุกเหรียญปรับตัวในทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะเหรียญบิตคอยน์ที่สร้างสถิติใหม่ออกมาเป็นว่าเล่น นั่นทำให้ JTS ถูกยกให้เป็นหุ้นตัวแม่ในกลุ่มเหมืองบิตคอยน์ จนมีข่าวว่าบริษัทประกาศจะซื้อเครื่องขุด 50,000 เครื่องในปี 2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลผลิตบิตคอยน์ในสัดส่วน 5% ของกำลังผลิตทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปี 2565 จะเป็นปีแห่งฝันร้ายของเหรียญคริปโตฯ เมื่อแทบทุกเหรียญกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากดดัน โดยเฉพาะการคุมเข้มการเทรดจากธนาคารกลางต่างๆ และการประกาศปรับขึ้นดอกเนี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังวิกฤตในสหรัฐฯ นั่นทำให้การลงทุนตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ หรือเหรียญดิจิทัลสกุลใดๆ ในโลก ปัจจุบันไม่คุ้มการลงทุน เพราะราคาเหรียญปรับตัวลงไปมาก และไม่รู้แนวโน้มจะลงต่อไปลึกขนาดไหน ขณะที่ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้นมากโดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า

และจากประเด็นดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายต่างให้น้ำหนักว่านี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการปรับลดลงราคาหุ้น JTS ซึ่งที่ผ่านมาขยับตัวแรงได้เพราะกระแสนิยมของเหรียญคริปโตฯ โดยบิตคอยน์คืออีกหนึ่งช่องทางในการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นั่นจึงทำให้หุ้น JTS สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ตลาดหุ้นไทยด้วยเป็นหุ้นสุดร้อนแรงที่มีราคาเริ่มจาก 1.93 บาท เมื่อสิ้นปี 2563 แต่ปี 2564 กลับครองแชมป์หุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดอันดับ 1 โดยปิดที่ 131 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6,867%

ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงปี 2564 ราคาหุ้น JTS ยังถูกลากขึ้นไปต่อ จนขึ้นไปสูงสุดที่ 594 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายเมื่อวันที่ 27 เม.ย. หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30,000% เมื่อเทียบกับจุดปิดสิ้นปี 2563 ที่ 1.93 บาท อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นราคาหุ้นได้ดิ่งตัวลงอย่างต่อเนื่องจนหลุดจาก 500 บาท และมาอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 50.00 บาท/หุ้นในปัจจุบัน จนใครต่อใครเชื่อว่า JTS ในปัจจุบันหมดปัจจัยที่จะช่วยผลักดันราคา เพราะตลาดเหรียญคริปโตฯ กำลังอยู่ในช่วงขาลง อีกทั้งต้นทุนในการลงทุนธุรกิจเหมืองนั้นมีราคาสูง ดังนั้นในภาพรวมกล่าวได้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนที่จะได้รับ

ขณะเดียวกัน การลดลงอย่างน่าใจหายของราคาหุ้นเป็นอีกข้อสงสัยที่สำคัญว่า ยังเหลือนักลงทุนรายย่อยที่ค้างเติ่งอยู่บนยอดดอยหรือราคาสูงสุดของ JTS มากน้อยเพียงใด นั่นเพราะนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่เทขายหุ้นมาตลอดทาง และหุ้นอาจไปกองรวมอยู่ที่เจ้ามือเกือบหมดแล้ว อีกทั้งราคาในปัจจุบันของ JTS คือราคาที่เหมาะสมกับศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทมากเพียงใด หรือหุ้น JTS จะมีโอกาสกลับยืนที่จุดตั้งต้น (ปี 2563) อีกครั้ง

 

เงินขาย 3BB ไม่ได้ช่วยฟื้นราคา

นอกจากนี้ ยังพบว่า JTS พยายามสร้างปัจจัยบวกใหม่ๆ ให้ธุรกิจของบริษัทเช่น โดยอาจคาดหวังให้ปัจจัยใหม่เหล่านี้การเป็นแรงผลักดันให้ราคาหุ้นของบริษัทฟื้นตัวขึ้นไปอีกครั้ง เช่นล่าสุดในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวว่า หากบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS สามารถปิดดีลการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB (3BB) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC) มูลค่ารวม 3.24 หมื่นล้านบาทได้สำเร็จ จะทำให้ JAS มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น มีความสามารถในการชำระหนี้ และมีเงินเพียงพอในการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนที่รองรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่

นั่นทำให้ JAS มีแผนที่จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัตินำเงินสดส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายธุรกิจ 3BB และ JASIF มาใช้ในการลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม JAS (กลุ่มจัสมินฯ) ขึ้นเป็น 60-70% จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 50.91% ซึ่งประกอบด้วย บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถืออยู่ 231,714,400 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.80% บริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด ถือหุ้น 64,027,700 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.06% และบริษัท ที.เจ.พี.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ถือหุ้น 63,918,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.05%

โดยเหตุผลที่กลุ่มจัสมินฯ ต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น JTS เป็น 60-70% เพราะมองว่าราคาเครื่องขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) ถูกลงมามากในสภาวะบิตคอยน์ ปัจจุบัน และบริษัทกำลังพัฒนาเครื่องขุดบิตคอยน์ของตัวเอง เพื่อจะลดต้นทุนลงไปอีก

นอกจากนี้ ค่าไฟที่แพง ปัจจุบัน JTS มีการนำโซลาร์เซลล์ (Solar cell) และแบตเตอรี่ (battery) มาใช้ในการขุดบิตคอยน์ เพื่อนำไปสู่การประหยัดไฟแบบ 100% และบิตคอยน์ที่ขุดได้ทุกวันนี้ยังไม่จำเป็นต้องนำมาขาย เพราะต้องการรอราคาที่เหมาะสม เช่น 100,000 เหรียญสหรัฐ (USD) ขึ้นไป จึงจะนำออกมาขาย โดยเชื่อว่าบิตคอยน์จะดีดตัวกลับในช่วงประมาณกลางปีหน้า (2566) ประกอบกับมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 น่าจะเป็นช่วงขาลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบ หรือภาพรวมทางธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ของ JTS แล้ว ถือว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้อต่อการเบ่งกำไร จึงมีคำถามเกิดขึ้นทุกครั้งที่ราคาหุ้นกระชากขึ้นแรง เพราะถ้ามองจากโลกในความเป็นจริง กำไรคงไม่มาตามนัด หรือแม้กระทั่งการได้เงินอัดฉีดจากการขาย 3BB กับ JASIF ก็คงไม่ช่วยอะไรสักเท่าไหร่

 

เดินหน้าเพิ่มกำลังขุดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี JTS ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายและแผนธุรกิจในปี 2565 ที่ตั้งไว้ โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จํากัด (JasTel) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและเป็นผู้ประกอบธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ มีจำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่ติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 927 เครื่อง กําลังขุดรวม 90,204 TH/s และมีจำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่จะทยอยส่งมอบในปี 2565 อีกทั้งสิ้น 2,599 เครื่อง แบ่งเป็นจะส่งมอบในไตรมาสที่ 3 จำนวน 1,699 เครื่อง และไตรมาสที่ 4 จำนวน 900 เครื่อง ทําให้ปลายปี 2565 นี้ ทาง JasTel จะมีเครื่องขุดบิตคอยน์ที่ส่งมอบแล้วทั้งสิ้น 3,526 เครื่อง กําลังขุดรวมทั้งสิ้น 422,204 TH/s

นอกจากนี้ บริษัทจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งในระยะยาวจะดําเนินการให้มีการใช้พลังงานสีเขียว (Green Energy) 100% เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากหน่วยงานของรัฐเพราะ JTS เชื่อว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 40 ปี อันเนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการทํา Quantitative Tightening (QT) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed และธนาคารกลางในหลายประเทศ รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งเหรียญ Luna บนเครือข่าย Terra มีราคาลดลงอย่างมหาศาล ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และสินทรัพย์ดิจิทัล

อีกทั้งบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่ต้องพึ่งพาสภาพคล่องในโลก เมื่อสภาพคล่องถูกระบายออกเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันคุมเข้มนโยบายการเงินและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บิตคอยน์จึงได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสินทรัพย์ในตลาดอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น JTS คาดว่าราคาบิตคอยน์จะปรับตัวดีขึ้น และเห็นว่าการลงทุนในเหมืองขุดบิตคอยน์เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นเหรียญบิตคอยน์ที่ขุดมาได้นั้นจะขายเมื่อมีกําไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ลงทุนเท่านั้น

นอกจากนี้ JTS ยังพิจารณาว่าเหรียญบิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ และมีปริมาณจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น อีกทั้งข้อมูลราคาย้อนหลังของบิตคอยน์ มีแนวโน้มของการปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงเวลาที่ราคาบิตคอยน์ต่ำอันเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลหมดไปและเกิดการขาดทุนทันที

ต้นทุนเพิ่มยิ่งสร้างภาระเพิ่ม

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมุมมองที่สวนทางกับหลายบริษัทจดทะเบียนที่เคยประกาศแผนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ที่ออกมาประกาศชะลอแผนการลงทุนไปหลายราย เพราะมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่คุ้มค่าการลงทุน รวมถึงค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ปรับเพิ่มเกือบ 5% ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ดังนั้นเมื่อ JTS ยังคงเดินหน้าธุรกิจดังกล่าวต่อย่อมชัดเจนว่าบริษัทพร้อมแบกรับต้นทุนสูงต่อไปในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับผู้ที่ถือครองหุ้น JTS อยู่ในขณะนี้

นั่นเพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า การทำเหมืองขุดบิตคอยน์เป็นธุรกิจที่ยิ่งทำยิ่งขาดทุน เพราะ JTS แม้ในไตรมาสที่ 2/65 จะกำไรออกมาถึง 34.7 ล้านบาท และทำให้มีกำไรสะสม 6 เดือนของปี 65 สูงถึง 131 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าไปดูในเนื้อในกลับพบว่า ในความเป็นจริงแล้ว JTS มีรายได้จากดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/65 สูงถึง 536.75 ล้านบาท โดยมีรายได้จากเหรียญบิตคอยน์ที่ขุดได้จำนวน 22.23 เหรียญ คิดเป็นเงิน 23.46 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์สูงถึง 428.07 ล้านบาท และเมื่อหักลบกลบหนี้พบว่า JTS ขาดทุนจากธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ถึง 404.61 ล้านบาท คิดเป็น 75% ของรายได้ทั้งหมดในไตรมาสที่ 2/65 ทั้งไตรมาสเลยทีเดียว

สิ่งเหล่านี้ช่วยตอกย้ำว่าจุดสูงสุดของ JTS ผ่านเลยมาแล้ว และเชื่อว่านักลงทุนต่างกำลังเฝ้าดูว่า จุดต่ำสุดของหุ้นตัวนี้จะอยู่ที่เท่าไหร่ JTS จะมาทางไหนกลับไปทางนั้น หรือจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นระดับไม่กี่บาทหรือไม่ เพราะปัจจุบันแทบกล่าวได้ว่า JTS เป็นหุ้นที่หมดจุดขายไปแล้ว