นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 คาดว่าจะมีเงินสะพัด 75,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลบอลโลกเมื่อปี 2018 ที่มีเงินสะพัด 76,897 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สังสรรค์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์รับสัญญาณ เพียง 18,561 ล้านบาท อีก 57,253 ล้านบาท อยู่นอกระบบเศรษฐกิจหรือพนันบอล แต่ต่ำกว่าช่วงบอลโลกปี 2018 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเฉลี่ยแล้วพบว่าเงินที่ใช้เล่นพนันบอลตลอดการแข่งขันอยู่ที่ 21,580 บาท และใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 1,416 บาทต่อนัดที่เล่น
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังต้องรอลุ้นว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)จะมีการพิจารณาว่าจะนำเม็ดเงิน 1,600ล้านบาทมาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก2022ให้กับประชาชนได้รับชมหรือไม่นั้น ซึ่งหากว่ามีการถ่ายทอดสดก็จะทำให้บรรยากาศเทศกาลบอลโลกคึกคักมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากจะมีกระแสติดตามผลบอลโลก ไปทานอาหารนอกบ้าน สังสรรค์ ซื้อเสื้อฟุตบอลมาสวมใส่ รวมไปถึงร้านอาหาร ผับบาร์ ร้านขายอุปกรณ์กีฬา และยังรวมไปถึงสื่อสารมวลชน ยูทูปเบอร์ ที่จะมีการรายงานข่าวสารเกิดการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลโลก แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสดก็จะทำให้เงินหายไปในระบบเศรษฐกิจ 5,000-10,000ล้านบาท
“การถ่ายทอดสดจะทำให้มีบรรยากาศคึกคัก มีการสังสรรค์ ก็ทำมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 18,561 ล้านบาท สูงกว่าบอลโลกปี 2018 ที่มีเงินสะพัดในระบบ 17,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี ซึ่งน่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัว 4-4.5% หรือมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงปลายปีนี้ประมาณ 35,000ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวตามเป้าที่ 3-3.5%”