“จุรินทร์” ย้ำดูแลเกษตรกรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เผยราคายางพาราดีกว่าสมัยก่อน แต่ถ้าราคาตก มีประกันรายได้ไว้ดูแล ส่วนปาล์มน้ำมัน ราคาดีขึ้นต่อเนื่อง หลังปรับน้ำมันดีเซล B5 เป็น B7 โชว์ผลงานประกันรายได้ 3 ปี ชาวสวนยางมีรายได้เฉลี่ยรายละ 24,565 บาท และปาล์มเฉลี่ย 19,500 บาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรและมอบใบรับรองการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร และตรวจเยี่ยมโครงการ “พาณิชย์…ลดราคา! ออนทัวร์ทั่วไทย” Lot 21 ณ ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ว่าตั้งแต่มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์มากที่สุด ทำเม็ดเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องไปแล้ว 3 ปีกว่า ราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว ยางพารา ราคาดีขึ้นจากสมัยก่อน ขี้ยางเคยขึ้นไปถึง 23-30 บาท/กิโลกรัม (กก.) ตอนนี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 20 บาท ดีกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งอยากให้ขึ้นมากกว่านี้ เอาไปทำยางรถยนต์และถุงมือยาง ก่อนหน้านี้ที่โควิด-19 ทำให้ความต้องการถุงมือยางมากขึ้น ราคาน้ำยางขึ้น วันนี้โควิด-19 ดีขึ้น ราคายางจึงลดลง แต่อีกช่วงราคาจะปรับขึ้นโดยเฉพาะยางแผ่นกับขี้ยางที่เอาไปทำยางรถยนต์ ที่ราคาตกช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสูงขึ้น และรถยนต์ที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ ตัวเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนจากปัญหาจีนและไต้หวัน รถยนต์ผลิตได้น้อยไปด้วย ยางรถยนต์จึงขายได้ลดลง แต่เราเข้าไปดูแลตลอด ปลายปีถึงต้นปีราคายางมีโอกาสขยับดีขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าวันไหนราคายางตก มีประกันรายได้เกษตรกร เป็นหลักประกันให้พี่น้อง ขี้ยาง 23 บาท/กก. น้ำยางข้น 57 บาท/กก. ยางแผ่นดิบ 60 บาท/กก. ถ้าต่ำกว่ารายได้ที่ประกันก็จะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง ส่วนปาล์มน้ำมันสมัยก่อนราคาตกตลอด เพราะมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตนจึงห้ามนำเข้าปาล์มทางบก และส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์ม ปรับการใช้น้ำมัน B5 เป็น B7 และ B10 แต่ตอนหลังราคาปาล์มสูงมาก 12 บาท/กก. จึงต้องยกเลิก และอินโดนีเซียส่งเสริมการส่งออก ขณะนี้ราคาปาล์มเฉลี่ย 6-8 บาท/กก. ตอนนี้ตนเสนอเข้าที่ประชุมให้ปรับจาก B5 เป็น B7 ให้ราคาปาล์มขยับขึ้น แต่ถ้าวันไหนราคาปาล์มต่ำกว่ารายได้ที่ประกัน ก็จะมีประกันรายได้ โดยประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน 4 บาท/กก.
“เฉพาะพังงา ตั้งแต่ผมเข้ามาเป็น รมว.พาณิชย์ โดยยางพารา จังหวัดพังงามีเกษตรกร 23,000 ราย ช่วง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยเป็นเงิน 560 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 24,565 บาท ปาล์มน้ำมันช่วงหลังราคาดี ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง มี 15,000 ครัวเรือนจ่ายเงินส่วนต่างรวม 300 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 19,500 บาท กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำเม็ดเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องโดยตรง”นายจุรินทร์กล่าว
นอกจากนี้ วันนี้มีโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน มาบริการพี่น้อง 3 วัน กว่า 100 คูหา สินค้าที่มาลดราคาสูงสุดถึง 60% มีทั้งหมูกิโลกรัมละ 150 บาท ไก่ 60 กว่าบาท/กก. น้ำมันพืชขวดละ 45 บาท ข้าวสารกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท สินค้าชำระล้างร่างกายอีกมากมายให้จับจ่ายใช้สอย ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้พี่น้องคนพังงาได้ไม่น้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.จังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วม
ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ได้มอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 1 องค์กร จำนวนสมาชิก 80 คนและมอบใบรับรองการจัดการหนี้ จำนวน 9 ราย และที่ผ่านมา ได้มอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแล้ว จำนวน 130 องค์กร 130 โครงการ จำนวน เงิน 72,085,317.00 บาท มอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรให้กับเจ้าหนี้สหกรณ์ ในพื้นที่ จำนวน 53 สหกรณ์ จำนวนเงิน 186,012,679.31 บาท มอบโฉนดที่ดินและใบประกาศเกียรติคุณให้เกษตรกรที่ชำระหนี้ครบตามสัญญา จำนวน 985 คน มอบใบทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 80 องค์กร