กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.35-33.80 จับตาการระบาด Omicron

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.35-33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในกรอบ 33.30-33.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเฟดประกาศเร่งปรับลดขนาดมาตรการซื้อตราสารหนี้เป็น 2 เท่า โดยระบุว่าได้บรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อแล้ว และประมาณการของเฟดบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 3 ครั้งก่อนสิ้นปี 2565 และปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2566 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทางด้านเงินปอนด์แข็งค่าระหว่างสัปดาห์หลังธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติ 8-1 เสียงให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ 0.25% จาก 0.1% โดยระบุถึงแรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานถึงแม้อังกฤษเผชิญกับการแพร่ระบาดของ Omicron ก็ตาม และบีโออีโหวตด้วยคะแนนเสียง 9-0 ให้คงขนาดเป้าหมายของโครงการเข้าซื้อพันธบัตรไว้ที่ 8.75 แสนล้านปอนด์ ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่าจะปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจเล็กน้อย โดยจะยุติโครงการการเข้าซื้อตราสารหนี้แบบฉุกเฉิน (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) ในเดือนมีนาคม 2565 แต่จะเร่งเข้าซื้อตราสารหนี้ภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program – APP) ขึ้นเป็น 2 เท่าเป็นการชั่วคราว ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คงนโยบายส่วนใหญ่ตามเดิม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,516 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 8,361 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติครบอายุกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 และการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ขณะที่สัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่ามีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อนึ่ง ในช่วงส่งท้ายปีการซื้อขายจะบางลงต่อเนื่องหลังธนาคารกลางหลักประชุมทิ้งทวนในสัปดาห์ที่แล้ว โดยคาดว่าตลาดจะผันผวนสูงขึ้นตามกระแสข่าวเกี่ยวกับ Omicron และมาตรการควบคุมโรค

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 22 ธันวาคม เนื่องจาก ธปท. ยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ของไทยและการเริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางหลายแห่งยังไม่สร้างแรงกดดันในเวลานี้ นอกจากนี้ ตลาดอาจลดความเสี่ยงท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ทั่วโลก และผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket